top of page

หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 เทคโนโลยี

ความหมายของเทคโนโลยี

     เทคโนโลยี  หมายถึง  การนำความรู้ทางธรรมชาติวิทยาและต่อเนื่องมาถึงวิทยาศาสตร์ มาเป็นวิธีการปฏิบัติและประยุกต์ใช้เพื่อช่วยในการทำงานหรือแก้ปัญหาต่างๆ อันก่อให้เกิดวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร แม้กระทั่งองค์ความรู้นามธรรมเช่น ระบบหรือกระบวนการต่างๆ เพื่อให้การดำรงชีวิตของมนุษย์ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น 

ความสำคัญของเทคโนโลยี

1.เป็นพื้นฐานปัจจัยจำเป็นในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ 

2.เป็นปัจจัยหลักที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนา 

3.เป็นเรื่องราวของมนุษย์ และธรรมชาติ 

    ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นจนสามารถสร้าง นวัตกรรม (Innovation) ซึ่งก็คือ การเรียนรู้ การผลิตและ การใช้ประโยชน์จากความคิดใหม่  ให้เกิดผลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง  สิ่งแวดล้อม  และวัฒนธรรม  เทคโนโลยีทำให้สังคมโลกที่เรียบง่าย กลายเป็นสังคมที่มีการดำรงชีวิตที่สลับซับซ้อนมากขึ้น  ก่อให้เกิดกระแสแห่งความไร้พรมแดน  หรือกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่เข้ามาสู่ทุกประเทศอย่างรวดเร็ว  จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ อันเป็นการผสมผสาน 4 ศาสตร์ เข้าด้วยกันได้แก่ อิเล็อทรอนิกส์  โทรคมนาคม  และข่าวสาร  (Electronics , Computer ,Telecomunication and Information หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ECTI ) ทำให้สังคมโลกสามารถสื่อสารกันได้ทุกแห่งทั่วโลกอย่างรวดเร็ว  สามารถรับรู้ข่าวสาร ความเคลื่อนไหวต่าง  ๆ ได้พร้อมกัน  สามารถบริหารจัดการและตัดสินใจได้ทุกขณะเวลา การลงทุนค้าขาย และธุรกรรมการเงินทได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเทคโนโลยีกำลังทำโลกใบนี้ “เล็กลง” ทุกขณะ

ความสัมพันธ์ของเทคโนโลยีกับมนุษย์ศาสตร์

    การทำงานตามกระบวนการทางเทคโนโลยีเริ่มจากวิเคราะห์ความต้องการของตน สื่อสารความต้องการให้ผู้อื่นเข้าใจ และเสนอแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งต้องอาศัยทักษะการพูด อ่านและเขียน ลักษณะพฤติกรรมการเรียนรู้เทคโนโลยีต้องอาศัยทักษะทางภาษาซึ่งเป็นศาสตร์ของมนุษย์ศาสตร์ ดังนี้

1. ทักษะการฟัง พูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางเทคโนโลยีกับคนอื่น ๆ ในการทำกิจกรรม

 2. ทักษะการเขียน นำเสนอข้อมูลเชิงสัญลักษณ์ หรืออธิบายแนวคิดของตน

 3. ทักษะการสรุป กิจกรรมเทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับการร่างโครงการและการอธิบายกระบวนการ ทำงานจนได้ชิ้นงาน การเขียนข้อสรุปจึงเป็นสิ่งสำคัญของเทคโนโลยี

ความสัมพันธ์ของเทคโนโลยีกับสังคมศาสตร์

    ผู้เรียนต้องเข้าใจประวัติความเป็นมาทั้งอดีตจนถึงปัจจุบันและเทคโนโลยีในอนาคตช่วยสร้างสรรค์มนุษยชาติ จึงต้องให้ผู้เรียนตระหนักถึงหน้าที่ และความรับผิดชอบในฐานะสมาชิกที่ดีของสังคม โดยกิจกรรมดังนี้

- สำรวจบทบาทเทคโนโลยีต่อสังคม

- การจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้สนองความต้องการได้อย่างฉลาด

- เข้าใจข้อจำกัดของปัจจัยต่าง ๆ ทางสังคม ค่านิยม โครงสร้างสังคม โดยนำสิ่งเหล่านี้มาประกอบการตัดสินใจในกิจกรรมทางเทคโนโลยี

- วิจัย ศึกษา วิเคราะห์การใช้เทคโนโลยีในสังคม ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไรบ้าง

- การตระหนักถึงการใช้ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

- วิจัยศึกษา วิเคราะห์ผลกระทบการใช้เทคโนโลยีต่อสังคม

ระบบเทคโนโลยี

1. ตัวป้อน(Input) คือ ปัญหาที่ต้องการแก้ไข หรือ ความต้องการของมนุษย์

2. กระบวนการเทคโนโลยี (Technological Process) คือ ขั้นตอนการแก้ปัญหาหรือการตอบสนองความต้องการ โดยอาศัยทรัพยากรทางเทคโนโลยีเพื่อให้ได้ผลผลิตหรือผลลัพธ์

3. ผลผลิตหรือผลลัพธ์(Output หรือ Outcome) คือ สิ่งทีได้มา หรือเกิดขึ้นจากกระบวนการเทคโนโลยี หรือผลที่ได้จากกระบวนการแก้ปัญหานั่นเอง โดยผลผลิตหรือผลลัพธ์ที่ได้จากระบวนการเทคโนโลยี(กระบวนการแก้ปัญหา)นี้อาจเป็น ชิ้นงาน (Product) หรืออาจเป็นวิธีการ (Methodology)

4. ทรัพยากรทางเทคโนโลยี (Resource) คือสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ในการแก้ปัญหา เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตหรือผลลัพธ์นั่นเอง ซึ่งทรัพยากรทางเทคโนโลยี แบ่งได้ 7 ด้าน ได้แก่ คน ข้อมูลและสารสนเทศ วัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ พลังงาน ทุนหรือทรัพย์สิน และเวลา

5. ปัจจัยที่ขัดขวางต่อเทคโนโลยี (Constraints) คือ สิ่งที่เป็นข้อจำกัด ข้อพิจารณา หรือสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาได้ผลงานแตกต่างกันไป เช่น  มีทุนน้อย มีเวลาจำกัด ไม่มีความรู้หรือความชำนาญ ขาดทักษะและความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ

การวิเคราะห์ระบบเทคโนโลยี

    เทคโนโลยีสารสนเทศ หมายถึง เทคโนโลยี ที่เป็นการรวมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีด้าน ฮาร์ดแวร์ ด้านซอฟต์แวร์ ด้านฐานข้อมูล    ด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร เทคโนโลยีเครือข่าย มาทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสารสนเทศโดยผ่านทางอิเลคทรอนิคส์ หรือข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบดิจิตอล หรือข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบที่คอมพิวเตอร์สามารถนำไปใช้งานได้

ประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศ

- ช่วยให้เกิดการสื่อสารที่แม่นยำและราคาเยาระหว่างผู้ที่อยู่ภายในและภายนอกองค์กร

- จัดเก็บสารสนเทศจำนวนมหาศาลไว้ได้อย่างประหยัดเนื้อที่ แต่ค้นคืนได้ง่าย

- สามารถแสดงสารสนเทศได้อย่างชัดเจนทำให้เกิดแนวคิดได้หลากหลาย

- ปรับการทำงานที่ใช้มือและกึ่งอัตโนมัติให้เป็นงานแบบอัตโนมัติได้

- ช่วยทำงานที่กล่าวถึงข้างบนนี้ได้อย่างประหยัดกว่าการทำด้วยมือ สามารถเข้าถึงสารสนเทศจำนวนมากที่จัดเก็บอยู่ทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วและด้วยราคาประหยัด

-ช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้แก่คนที่ทำงานเป็นทีมทั้งในสำนักงานเดียวหรือต่างสำนักงาน

bottom of page